
เพื่อสุขภาพฟันที่ดีตั้งแต่ฟันน้ำนมไปจนถึงฟันแท้ พาลูกน้อยมารักษากับเรา
รักษาโดยทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก
การที่ได้เห็นลูกค่อยๆ เติบโตและพัฒนาขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญของพ่อแม่ โดยเฉพาะเรื่องฟัน ก็เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่พ่อแม่ควรรู้ ต้องคอยสังเกตลูกอย่างใกล้ชิด และเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ควรพาลูกไปหาหมอฟันตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น และเช็คสุขภาพช่องปากของลูกอยู่เสมอ แล้วทันตกรรมเด็กมีอะไรบ้าง เน้นเรื่องอะไร แล้วหมอฟันเด็กจะให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ
หัวข้อย่อย
- ประเภทของฟันเด็ก
- วิธีดูแลฟันเด็ก
- ทันตกรรมเด็กคืออะไร มีอะไรบ้าง?
- จำเป็นไหมต้องพาลูกไปหาหมอฟันเด็ก ?
- ทำฟันเด็กแตกต่างจากการทำฟันผู้ใหญ่อย่างไร ?
- พาลูกไปหาหมอฟันเด็กครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง ?
- ทำอย่างไรไม่ให้ลูกกลัวการทำฟัน
- คำถามที่พบบ่อยสำหรับทำฟันเด็ก
- แนะนำหมอฟันเด็ก ของ Vertex dental ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก
- Q&A เรื่องฟัน Fun EP.1 หมอนุคนิค
- สรุป
มาทำความเข้าใจเรื่องประเภทของฟันเด็กกันก่อน ฟันน้ำนมคืออะไร จะขึ้นซี่แรกตอนอายุเท่าไหร่ ขึ้นตรงไหน ฟันแท้จะขึ้นตอนกี่ขวบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงในเรื่องการพัฒนาการของลูกในหลาย ๆ ด้าน เช่น พัฒนาการในเรื่องของโครงสร้างใบหน้า การบดเคี้ยวอาหาร การออกเสียง รวมถึง การขึ้นของฟันน้ำนม เป็นการเตรียมพื้นที่ให้ฟันแท้ขึ้นได้มีประสิทธิภาพ เพราะมีเด็กหลาย ๆ คนที่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด แล้วมีฟันแท้ขึ้นแซมมา ทำให้มีปัญหาเรื่องฟันซ้อน เก เรียงตัวไม่ค่อยสวย เพราะฉะนั้นเรื่องฟันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องคอยสังเกตดูอยู่เสมอ
ประเภทของฟันเด็ก
ฟันของเด็ก หรือ ฟันของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ
- ฟันน้ำนม คือฟันชุดแรก จำนวน 20 ซี่ โดยที่จะเริ่มขึ้น เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 6 เดือน โดยฟันที่ขึ้นก่อนมักจะเป็นฟันหน้า หรือด้านล่าง 2 ซี่ หลังจากนั้นก็จะเป็นฟันซี่อื่น ๆ ที่จะขึ้นตามมา โดยที่ฟันซี่อื่นมักจะทยอยขึ้นตามลำดับดังนี้

หากฟันเด็กขึ้นช้ากว่า 8 เดือน อาจจะเกิดจากหลายปัจจัย แต่ถ้าเด็กอายุได้ประมาณ 18 เดือนแล้ว ฟันซี่แรกยังไม่ขึ้นนั้น ถือว่าขึ้นช้าผิดปกติ ควรพาลูกไปหาหมอฟันเด็ก หรือ ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก เพื่อหาสาเหตุ
ซึ่งโดยปกติแล้ว ส่วนใหญ่ฟันเด็กผู้หญิงจะขึ้นเร็วกว่าเด็กผู้ชายประมาณ 2 – 10 เดือน แต่ถ้าพบว่า เด็กอายุได้ประมาณ 10 เดือนแล้ว แต่ฟันยังไม่ขึ้น ควรพาไปให้หมอฟันเด็กตรวจเช็คดูว่า ที่ฟันขึ้นช้านั้น สาเหตุจากอะไร ในขากรรไกรมีหน่อฟันอยู่หรือไม่ หรือดูว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เนื้อเยื่อของเหงือกมีความหนาแน่นมากจนทำให้ ฟันน้ำนมโผล่ขึ้นไม่ได้ เป็นต้น ควรรีบหาสาเหตุ และรักษาตั้งแต่ต้น ๆ เพื่อสุขภาพฟันที่ดีของลูกในอนาคต
- ฟันแท้ คือฟันชุดที่สอง จำนวน 32 ซี่ โดยที่แบ่งออกเป็นบน 16 ซี่ ล่างอีก 16 ซี่ โดยจะเริ่มทยอยขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนม โดยจะขึ้นตั้งแต่อายุ 6 ปี ไปจนถึงประมาณ 12 – 13 ปี จำนวน 28 ซี่ และอีก 4 ซี่ จะขึ้นจนครบเมื่อประมาณอายุ 18 ปี จนครบจำนวน 32 ซี่ ซึ่งฟันแท้ 4 ซี่ สุดท้าย ซึ่งเป็นฟันกรามทั้งหมด ซึ่งจะขึ้นเป็นซี่ในสุด หรือเรียกว่า “ฟันคุด” นั่นเอง เป็นฟันที่อาจเกิดเอียงออกจากแนวฟัน ตามแนวของฟันก็ได้ และมักไม่ชิดติดกับฟันชุด 28 ซี่แรก ทำให้มีช่องว่างเกิดขึ้น ซึ่งทั่วไปมักถอนออก โดยเฉพาะซี่สุดท้ายในแต่ละข้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่ลักษณะการขึ้นของฟัน

วิธีดูแลฟันเด็ก
วิธีดูแลฟันเด็กก็คล้าย ๆ การดูแลฟันผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เน้น คือสร้างนิสัยของเด็กในเรื่องการดูแลฟันอย่างถูกวิธี เพื่อสุขภาพฟันที่ดีในระยะยาว และทันตแพทย์จะมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่มือใหม่ในการดูแลฟันลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ
- ในวัยแรกเกิด พ่อแม่สามารถใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำต้มสุกในการทำความสะอาดช่องปาก บริเวณสันเหงือก รวมถึงลิ้น ไม่ควรปล่อยให้ลิ้นของเด็กเกิดฝ้าขาว เพราะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
- หากฟันน้ำนมเริ่มขึ้น – 3 ปี พ่อแม่ควรเริ่มแปรงฟันให้เด็ก ใช้แปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ปริมาณนิดเดียว แค่พอเปียกขนแปรง หลังแปรงเสร็จใช้ผ้าเช็ดฟองออกเท่านั้น
- อายุ 3 – 6 ปี ให้เด็กเริ่มแปรงฟันด้วยตัวเอง เพิ่มปริมาณยาสีฟัน ใช้ประมาณขนาดเท่าถั่วเขียว และบ้วนฟองออกเท่านั้น โดยมีพ่อแม่คอยเช็คดูอีกที
- อายุ 12 ปี สามารถใช้แปรงสีฟันแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว
คำแนะนำการดูแลอื่นๆ
- ควรให้ลูกเลิกดื่มนมมื้อดึก โดยเริ่มเมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน เพราะการที่มีนมค้างอยู่ในช่องปากนาน ๆ ทำให้เสี่ยงฟันผุได้
- ท่าแปรงฟันให้เด็ก ควรให้นั่ง หรือ ลักษณะนอนหงาย วางศรีษะบนตักของพ่อแม่ ให้เห็นสันเหงือก และลิ้น หรืออาจจะใช้ไฟช่วยส่อง
- เริ่มใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ก่อนแปรงฟัน และอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง หากเด็กฟันเริ่มขึ้นหลายซี่
- ไม่รับประทานอาหาร และ ดื่มน้ำหลังแปรงฟันทันที หรือควรเว้นระยะสักครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ฟลูออไรด์ได้ทำงาน และเคลือบฟันได้นานที่สุด เป็นการป้องกันฟันผุ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน หรือ ควรดื่มน้ำตามหลังรับประทาน
ทันตกรรมเด็กคืออะไร มีอะไรบ้าง?
ทันตกรรมเด็ก คือ ทันตกรรมสาขาหนึ่ง ที่ดูแลรักษา สุขภาพช่องปากของเด็กโดยเฉพาะ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี ซึ่งทันตกรรมเด็กจะมี 3 ด้านหลักๆ
- ทันตกรรมป้องกัน ได้แก่ การตรวจเช็คช่องปาก การเคลือบฟลูออกไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน ใส่เครื่องมือป้องกันฟันล้ม
- ทันตกรรมฟื้นฟู ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การครอบฟัน รักษารากฟัน
- พัฒนาการของฟัน ได้แก่ โครงสร้างใบหน้า การสบฟัน ฟันซ้อน ฟันเก
จำเป็นไหมต้องพาลูกไปหาหมอฟันเด็ก ?
หมอฟันเด็ก หรือ ทันตแพทย์เด็ก ซึ่งหัตถการสำหรับเด็กนั้นไม่ต่างจากทันตกรรมทั่วไป แต่มีความแตกต่างที่ต้องเรียนเฉพาะทาง เพราะ เด็กนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าผู้ใหญ่มาก ในเรื่องของโครงสร้าง และเชิงของจิตวิทยา หมอฟันเด็กต้องมีความเข้าใจในช่วงวัย และพร้อมรับมือกับพฤติกรรม เพราะเด็กแต่ละคนตอบรับการรักษาไม่เหมือนกัน ดังนั้นจำเป็นต้องมีวิธีการให้เหมาะสมช่วงวัยเด็ก และควรเลือกทันตกรรมที่เหมาะสม
ทำฟันเด็กแตกต่างจากการทำฟันผู้ใหญ่อย่างไร ?
การทำฟันเด็กแตกต่างจากการทำฟันผู้ใหญ่มาก เนื่องด้วย โครงสร้างของเด็กกับของผู้ใหญ่แตกต่างกัน ลักษณะของฟันน้ำนม ตำแหน่งการขึ้นของฟัน ขนาดของฟัน และทันตแพทย์สำหรับเด็กต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความไวในการรักษามากกว่า เพราะเด็กมีความอดทน หรือ การตอบรับการรักษาได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
พาลูกไปหาหมอฟันเด็กครั้งแรก ตรวจอะไรบ้าง ?
การพาลูกไปหาหมอฟันเด็กครั้งแรก คุณหมอจะเช็คสุขภาพช่องปาก ดูตั้งแต่ฟัน เหงือก และลิ้น เหมือนกับผู้ใหญ่ อาจจะมีการเคลือบฟลูออไรด์สำหรับเด็ก เพื่อป้องกันฟันผุ โดยสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน เมื่อฟันมีซี่แรกขึ้นมา ก็สามารถเคลือบฟลูออไรด์ได้แล้ว เพราะฟันเด็กมีความเสี่ยงที่จะผุมากกว่าฟันผู้ใหญ่
ทำอย่างไรไม่ให้ลูกกลัวการทำฟัน
จะทำอย่างไรให้เด็กไม่กลัวการไปหาหมอฟัน การสร้างประสบการณ์ และทัศนคติที่ดีให้เด็ก ควรเริ่มจากพ่อแม่ ต้องปลูกฝังเด็กให้ไม่กลัวการทำฟัน ทำให้เด็กรู้สึกว่าการทำฟัน หรือ การไปพบทันตแพทย์นั้นเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
เทคนิคทำให้ลูกไม่กลัวการทำฟัน
- สร้างความเคยชิน โดยพาเด็กไปเช็คสุขภาพช่องปากโดยเริ่มตั้งแต่ 6 เดือน หรือฟันซี่แรกเริ่มขึ้น เพราะฟันชุดแรก หรือ ฟันน้ำนมสำคัญมาก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสุขภาพฟันที่ดีของฟันชุดที่ 2 คือ ฟันแท้ นั่นเอง จึงจำเป็นต้องพาเด็กไปเช็คสุขภาพช่องปาก และรับคำแนะนำจากหมอฟันเด็ก เมื่อเด็กมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง ก็ไม่ต้องพาลูกไปหาหมอฟันบ่อย
- สร้างทัศนคติที่ถูกต้อง จินตนาการของเด็กนั้นสำคัญ และการสร้างจินตนาการที่ดีของวัยเด็ก อาจจะเป็นการเล่านิทาน การ์ตูน หนังสือเด็กที่เกี่ยวกับฟันหรือ การจำลองสถานการณ์จริง สวมบทเป็นคุณหมอ ทำให้เด็กรู้สึกการทำฟันนั้นเป็นเรื่องสนุกได้
- สร้างบรรยากาศที่ดี เมื่อเด็กต้องไปทำฟัน ควรคุยกับลูก และพูดแต่สิ่งดี ๆ ไม่พูดในแง่ลบของการทำฟัน หรือ ขู่ ให้เด็กรู้สึกกลัว
- ให้คำชม เมื่อทำฟันเสร็จ ควรชื่นชมเด็ก แทนคำพูดที่รู้สึกสงสาร ให้เด็กรู้สึกภูมิใจ
คำถามที่พบบ่อยสำหรับทำฟันเด็ก
สามารถทำความสะอาดได้ตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึง ฟันน้ำนมเริ่มขึ้น หรือ อายุได้ประมาณ 6 เดือน
โดยปกติแล้วคุณหมอฟันเด็กจะแนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ แต่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงฟันผุของเด็กแต่ละคน ถ้าเด็กที่มีความเสี่ยงมาก คุณหมอจะแนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์ทุก 3 เดือน และให้เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
การขูดหินปูนสำหรับเด็กก็จำเป็นเหมือนกับผู้ใหญ่ คราบหินปูน หรือ เรียกว่าขี้ฟัน หมอฟันเด็กจะแนะนำให้มาตรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อเช็คดูคราบหินปูนด้วย แล้วหมอจะเป็นคนประเมินว่าจำเป็นต้องขูดไหม ขึ้นอยู่กับปริมาณคราบหินปูนของแต่ละคน
พ่อแม่หลายคนอาจจะเคยชินกับการแปรงฟันแล้วต้องบ้วนน้ำ ซึ่งความจริงแล้วเป็นการแปรงที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ การบ้วนน้ำทิ้ง ทำให้ฟลูออไรด์ไม่เหลืออยู่ในช่องปาก ซึ่งฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ไม่เกิดอันตราย
แนะนำหมอฟันเด็ก ของ Vertex dental ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก

Q&A เรื่องฟัน Fun EP.1 หมอนุคนิค
สรุป
สำหรับพ่อแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือ มีลูกคนแรก หลายคนมักมีความเข้าใจผิด ๆ ว่าสุขภาพฟันเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ฟันเด็กก็มีปัญหาสุขภาพฟันเหมือนผู้ใหญ่ แต่มักถูกละเลย ต้องเข้ามาพบทันตแพทย์เด็กเพื่อเช็คสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะได้รับการดูแลพื้นฐานเกี่ยวกับฟัน เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีในการดูแล และสิ่งสำคัญคือป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคตที่สายเกินแก้