ฟันเทียม (Denture)
ฟันเทียม หรือฟันปลอม เป็นฟันที่มาทดแทนฟันที่สูญเสียไป ป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับช่องว่างบนเหงือก ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการเคี้ยวอาหาร รวมไปถึงการพูดคุย ฟันเทียมในปัจจุบันจะดูเหมือนฟันธรรมชาติมากขึ้น และสวมใส่สบายมากขึ้น
โดยทั่วไปฟันเทียมจะมี 2 ชนิด ได้แก่
- ฟันเทียม ชนิดถอดได้
- ฟันเทียม ชนิดติดแน่น
ฟันเทียมชนิดถอดได้จะมี 2 แบบ คือ
- ฟันเทียมแบบเต็มปาก
เหมาะกับคนที่สูญเสียฟันแท้ไปหมดทั้งปาก เช่น ผู้สูงอายุ โดยลักษณะของฟันเทียมนี้จะแยกเป็นชิ้นบน – ชิ้นล่าง ข้อเสียของฟันเทียมชนิดนี้คือ เนื้อเยื่อและกระดูกที่รองรับฟันจะมีการเปลี่ยน แปลงขณะฟื้นตัว ซึ่งอาจทำให้ฟันเทียมหลวมได้ คนไข้จึงต้องมาปรับเปลี่ยนฟันเทียมใหม่
- ฟันเทียมแบบบางซี่
เหมาะสำหรับคนที่สูญเสียฟันไปบางซี่หรือหลายซี่ แต่ยังไม่หมดทั้งปาก เป็นที่นิยม มี 2 แบบคือ แบบฐานอะคริลิคและแบบฐานโลหะ แบบอะคริลิคจะมีราคาที่ถูกกว่า สะดวกในการถอนฟันเพิ่มในอนาคต แต่ต้องระวังเรื่องการแตกหัก ส่วนฐานโลหะมีความแข็งแรง แตกหักยาก บาง และใส่สบายกว่า
ฟันเทียมชนิดติดแน่นจะมี 2 แบบ คือ
- ฟันเทียมชนิดติดแน่นด้วยสะพานฟัน
เป็นฟันเทียมถาวรติดยึดแน่นในช่องปาก ไม่สามารถถอดทำความสะอาดได้ หากฟันที่จะใช้เป็นหลักยึดอยู่ในสภาพไม่พร้อม ก็ต้องรักษารากฟันก่อน
- ฟันเทียมชนิดติดแน่นด้วยรากฟันเทียม
เป็นการจำลองลักษณะฟันธรรมชาติในส่วนของตัวฟันและรากฟัน เหมือนเป็นการปลูกฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปแล้วขึ้นมาใหม่
การดูแลรักษาช่องปาก
ควรแปรงฟันที่เหลืออยู่ และลิ้น อย่างน้อยสองครั้งต่อวัน เพื่อป้องกันฟันผุ โรคเหงือก และปัญหาในช่องปากอื่น ๆ
การดูแลรักษาฟันเทียม
- ทำความสะอาดฟันเทียมอยู่เสมอ เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่สะสมอยู่บนฟันเทียม
- ถอดฟันเทียมออก ก่อนเข้านอนทุกครั้ง เพื่อให้เหงือกได้มีเวลาพัก
- ขณะถอดฟันเทียมไว้ข้างนอก ควรแช่น้ำไว้ เพื่อให้ฟันเทียมคงความชื้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ฟันเทียมแห้งและเปลี่ยนรูปร่าง
- ควรแช่ในน้ำที่มีสารละลายฟองฟู่ หรือเม็ดทำความสะอาดฟัน
ข้อควรระวัง เมื่อฟันเทียมมีอาการเหล่านี้ควรไปพบทันตแพทย์
- ฟันเทียมหลวม
- ฟันเทียมส่งเสียงขณะพูด
- ฟันเทียมแน่น หรือคับจนเกินไป
- ฟันเทียมมีความเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด
ถึงจะเป็นฟันเทียมแต่ก็มีวันเสื่อมหรือวันหมดอายุการใช้งานได้ หากไม่ทำการเปลี่ยนฟันเทียมที่ชำรุดหรือเก่าเกินไป ฟันเทียมอาจจะสร้างความไม่สบายแก่ช่องปากได้ ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลไปถึงการติดเชื้อ การรับประทานอาหาร และการพูดด้วย รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ในช่องปากที่จำเป็นต้องแก้ไข อาทิ อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษาโรคเหงือกเป็นต้น ดังนั้นจึงควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง