การครอบฟัน (Crown)

การครอบฟัน (Crown) เป็นการครอบหรือคลุมฟันที่ได้รับความเสียหาย แตกหัก หรือได้ผ่านการรักษารากฟัน เพื่อให้ฟันซี่นั้นแข็งแรงขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้น มีรูปทรงสวยงามมากขึ้น หรือเพื่อให้ฟันมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีดังเดิม

ประเภทของครอบฟัน

ครอบฟันโลหะเคลือบด้วยเซรามิก (Porcelain Fused to Metal Crown) เป็นครอบฟันเซรามิกผสมโลหะ โดยการนำข้อดีของวัสดุทั้งสองชนิดมาทำเป็นครอบฟันชนิดนี้ ตัวครอบฟันจะแข็งแรงและมีสีเหมือนฟันธรรมชาติ

ครอบฟันแบบเซรามิกล้วน (All-Ceramic Crown) มีสีสันที่เหมือนฟันจริงตามธรรมชาติ โดยทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้ครอบฟันแบบเซรามิกล้วนในการทดแทนฟันหน้า ซึ่งครอบฟันแบบเซรามิกล้วนนั้นจะมีความใส สวยงาม เหมือนฟันตามธรรมชาติ และยังมีครอบฟันเซรามิกล้วนอีกชนิดหนึ่ง เหมาะกับคนไข้ที่แพ้โลหะและจำเป็นต้องทำครอบฟันในฟันหลัง คือครอบฟันครอบฟันเซอร์โคเนีย (Zirconia crown)

ครอบฟันแบบโลหะล้วน (Full Metal Crown) ครอบฟันโลหะล้วนทำจากโลหะหลายชนิด เช่น ทอง มีความแข็งแรงและทนทานมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการบิ่นหรือแตกเหมือนวัสดุเซรามิก แต่มีความสวยงามต่ำ มักจะใช้กับฟันหลังมากกว่าฟันหน้า

ครอบฟันเรซิน (All-Resin Crown) ทำจากวัสดุที่มีคุณสมบัติคล้ายพลาสติก มักใช้เป็นครอบฟันชั่วคราวระหว่างการรักษา

ประโยชน์ของการครอบฟัน

– ช่วยปกป้องฟันที่อ่อนแอ เนื่องจากแตก หัก บิ่น มีการผุมาก หรือได้รับการรักษารากฟันและช่วยให้มีความแข็งแรงดังเดิม

– ช่วยป้องกันฟันที่ได้รับการครอบจากการเกิดฟันผุ

– ช่วยปกปิดฟันซี่เดิมที่ไม่สวยงาม ด้วยครอบฟันที่มีรูปร่างและสีสรรที่สวยตามที่ต้องการ

– ช่วยให้สามารถรักษาตำแหน่งฟันและประสิทธิภาพการทำงานให้เหมือนดังเดิม

– ช่วยบูรณะฟันที่มีรูผุใหญ่ หรือมีวัสดุอุดเดิมที่ใหญ่เกินไปได้

– เป็นองค์ประกอบในการทำสะพานฟัน

– ช่วยบูรณะและการคงสภาพการสบฟันของผู้ป่วยตามธรรมชาติ

– เป็นองค์ประกอบในการปลูกรากฟันเทียมไททาเนียม

– ช่วยให้มีรอยยิ้มที่สวยงาม

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการเตรียมฟัน

1. การฉีดยาชาบริเวณฟันซี่ที่จะกรอเพื่อทำครอบฟัน

2. การกรอฟันเพื่อเป็นฐานให้แก่ครอบฟัน

3. การจดบันทึก สี ขนาด รูปร่างของฟันที่ต้องการในการทำครอบฟัน

4. การพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง

5. แบบจำลองและรายละเอียดทั้งหมดจะถูกส่งไปยังห้องแล็บเพื่อทำครอบฟัน

6. ทันตแพทย์จะทำการติดครอบฟันแบบชั่วคราวให้แก่ผู้ป่วยสำหรับใช้งานระหว่างการรอ

ขั้นตอนการติดครอบฟัน

– การรื้อครอบฟันแบบชั่วคราวออก

– การติดยึดครอบฟันแบบถาวรบนฟัน

– การตรวจเช็คและการปรับแต่งให้มีความเหมาะสมที่สุด

ข้อปฏิบัติหลังการทำครอบฟัน

การดูแลเอาใจใส่เพื่อสุขภาพของปากและฟันที่ดีนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากครอบฟันสามารถมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้ก็ต่อเมื่อฟันที่ใช้เป็นฐานรองรับครอบฟันมีสุขภาพแข็งแรง

1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งภายใน 24 ชั่วโมงหลังการติดยึดครอบฟัน

2. สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดการบวมหรืออาการต่าง ๆ ได้โดยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (เกลือ 1 ช้อนชา + น้ำอุ่น 1 แก้ว) อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง

3. ควรดูแลความสะอาดบริเวณที่ติดครอบฟันเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเกิดโรคเหงือก

4. อาการเสียวฟันอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางท่าน โดยอาการดังกล่าวจะสามารถหายได้เอง ภายในเวลาไม่นาน

หากเกิดอาการเสียวฟัน ควรปฏิบัติตนดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานอาหารที่ร้อน เย็น หรือมีความเป็นกรดสูง เช่น น้ำมะนาว เป็นต้น

2. การรับประทานยาแก้ปวดสามารถช่วยลดอาการเสียวฟันได้ระดับหนึ่ง

3. ควรเลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีสารฟลูออไรด์สูงซึ่งสามารถช่วยปัญหาการเสียวฟันได้

4. ควรทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

5. ควรเริ่มด้วยการรับประทานอาหารอ่อน ๆ จนกว่าจะเคยชินกับครอบฟันใหม่

วิธีการดูแลรักษาหลังเข้ารับการทำครอบฟัน

– ควรทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง การแปรงฟันหลัง รับประทานอาหารเป็นการเริ่มวินัยที่ดีในการดูแลสุขภาพปากและฟันซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

– ควรทำความสะอาดด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง

– ควรทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารภายใน 30 นาทีหลังการบ้วนปาก

– ควรให้ความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็งบริเวณฟันที่ได้รับการครอบ

– ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน

หมายเหตุ : ขั้นตอนการเตรียมฟันและการติดยึดครอบฟันนั้นอาจก่อให้เกิดการเสียวฟันได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน

Scroll to Top