รักษาโรคเหงือก
โรคเหงือกส่วนใหญ่เกิดจากการมีคราบจุลินทรีย์ไปยึดเกาะกับฟันปริมาณมาก โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือก หากเราทำความสะอาดช่องปากไม่ดี เชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีจะเริ่มทำอันตรายกับเหงือก ทำให้ขอบเหงือกเกิดอาการอักเสบอ่อน ๆ จึงเห็นเป็นสีแดงกว่าเดิม จากนั้นคราบจุลินทรีย์จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ลงไปสู่ใต้ขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบมากขึ้น แดงมากขึ้น และอาจทำให้เกิดหินปูน ซึ่งจะมีผลทำให้เหงือกและกระดูกรองรับฟันถูกทำลาย จะสังเกตุได้ว่าขอบเหงือกจะร่นลงไป ตัวฟันจะดูยาวมากขึ้น ฟันเริ่มโยก มีเลือดออก และมีกลิ่นปาก
หากโรคเหงือกยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่รักษา ระยะต่อจากนี้จะเรียกว่าโรคปริทันต์ หรือโรครำมะนาด ในระยะสุดท้ายนั้น เหงือกและกระดูกรองรับฟันจะถูกทำลายไปจนเกือบหมด ฟันจะโยกจนเห็นได้ชัดเลือดจะออกจากขอบเหงือกบ่อย ๆ มีหนองออกในบางครั้ง และจะต้องถอนฟันออก โดยไม่มีทางรักษาอื่น
อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นโรคเหงือก
– มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
– เหงือกมีสีแดงขึ้น และบวม
– มีกลิ่นปาก
– ขอบเหงือกและฟันไม่แนบสนิทกัน
– มีหนองไหลออกมาระหว่างเหงือกกับตัวฟัน
– ฟันโยก
– ฟันเคลื่อนฟันไปจากตำแหน่งเดิม
– ฟันปลอมหลวมมากขึ้น
การรักษาโรคเหงือก
ปริทันตแพทย์จะมุ่งเน้นด้านการรักษาโรคปริทันต์หรือที่เรียกว่าโรคเหงือก ซึ่งโดยทั่วไปมักจะหมายถึงโรคเหงือกอักเสบและโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ รวมถึงการทำศัลยกรรมเหงือกและการปลูกถ่ายเหงือก
โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นอาการอักเสบของเหงือกซึ่งเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่นการสูบบุหรี่ ผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิดและการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น
โรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ (Periodontitis) มักก่อให้เกิดการละลายของรากฟัน เป็นสาเหตุของอาการฟันโยกและอาจต้องถอนฟันทิ้งไปในที่สุด อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของกลิ่นปากอีกด้วย
วิธีการรักษาโรคเหงือกประกอบด้วย
– การเกลารากฟันและขูดหินปูน เป็นวิธีการเบื้องต้นในรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ
– การผ่าตัดเพื่อตกแต่งเหงือก โดยทั่วไปมักทำเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่รอยยิ้ม
– การปลูกถ่ายเหงือกเป็นวิธีการแก้ปัญหาเหงือกร่น โดยวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณและความหนาของเหงือกในบริเวณที่เกิดการเหงือกร่น
– การผ่าตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความยาวของฟัน โดยปกติจะทำกับฟันหน้าเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับฟันที่เข้ารับการทำครอบฟันหรือเคลือบผิวฟันเพื่อความสวยงาม
โรคเหงือกมักจะไม่มีอาการเจ็บปวด หรืออาการร้ายแรงแสดง คนส่วนใหญ่จึงมักไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเป็นโรคเหงือกอยู่ จึงปล่อยให้โรคเหงือกดำเนินไปจนกระทั่งลุกลามและสูยเสียฟันไปในที่สุด ดังนั้น หากคุณกำลังมีอาการดังกล่าว ควรดูแลรักษาช่องปากและฟันเป็นประจำ และพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน